สโมสรฟุตบอลทหารบก หรือ สโมสรอาร์มี่ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยสนับสนุนโดยกองทัพบก โดยในปี พ.ศ. 2549 ได้เข้ามาร่วมเล่นในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก
ประวัติสโมสร
สโมสรฟุตบอลทหารบก นับเป็นอีกหนึ่งทีมที่มีประวัติศาสตร์อยู่คู่กับวงการฟุตบอลไทยมาอย่างยาว นานโดยประสบความสำเร็จตั้งแต่ระดับถ้วย ง ซึ่งได้แชมป์มาครอง 5 สมัย ,ถ้วย ค. 3 สมัย ,ถ้วย ข. 1 สมัย และ ถ้วย ก. 1 สมัย ส่วนในฟุตบอลถ้วยนั้นเคยได้ตำแหน่งรองแชมป์ควีนส์คัพ 1 ครั้งในปี 2540
อย่างไรก็ตามในลีกสูงสุดของประเทศไทยอย่างศึก ไทยพรีเมียร์ลีก จากทั้งหมด 13 ครั้งนั้น ทหารบก ยังทำผลงานได้ไม่ดีนักโดยมีโอกาสลงเล่นเพียง 7 หนเท่านั้น ทีมตกชั้นเป็นครั้งแรกใน ครั้งที่ 4 หลังจบฤดูกาลด้วยอันดับ 11 จากทั้งหมด 12 ทีม แม้ว่าจะมีโอกาสในการเพลย์อ๊อฟกับทีมรองแชมป์ดิวิชั่น 1 ขณะนั้นคือ ราชนาวีสโมสร แต่ก็แพ้ไป
จากนั้นเหมือนจะกลายเป็นยุคตกต่ำของทีมไปโดยปริยายเมื่อต้องวนเวียนอยู่ใน ดิวิชั่น 1 ถึง 5 ฤดูกาล กว่าจะกลับมาโลดแล่นในไทยลีกอีกครั้งในปี 2549 ก่อนที่ฤดูกาลถัดมาในครั้งที่ 11 ซึ่งถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดในระดับไทยพรีเมียร์ลีกของทหารบก ด้วยการปิดซีซั่นที่อันดับ 5 จาก 16 ทีม เป็นรองแค่ ชลบุรี ทีมแชมป์ ,ธ.กรุงไทย ,บีอีซี เทโรฯและม.กรุงเทพเท่านั้น
แต่เพียงแค่ฤดูกาลเดียวทุกอย่างกลับตาลปัตร ในไทยลีกครั้งที่ 12 ทบ.ทำดีที่สุดแค่การมีแต้มเหนือ ศุลกากร เพียงทีมเดียวเท่านั้น และการจบฤดูกาลด้วยอันดับรองบ๊วยทำให้ทีมต้องกลับไปเผชิญวิบากกรรมในไทยลีก ดิวิชั่น 1 เป็นครั้งที่ 2
ฤดูกาล 2552 ทหารบกใน ลีกดิวิชั่น 1 สามารถโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมภายใต้การคุมทีมของ พ.ท.ขวัญ รัตนรังสี ที่สามารถพาทีมคัมแบ็กกลับขึ้นสู่ลีกสูงสุดของประเทศสำเร็จในฐานะรองแชมป์
โดยในช่วงก่อนเปิดซีซั่น 2553 ท่ามกลางกระแสไทยลีกฟีเวอร์สุดๆ แม้แต่ทีมทหารบกที่เป็นน้องใหม่เองก็ได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนที่ต้อง การเข้ามาสนับสนุนทีม โดยทีมได้รับงบประมาณถึง 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเตรียมสู้ศึกไทยลีกครั้งที่ 14 จาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เอเซอร์ คอมพิวเตอร์และ ,เบียร์เชียร์
ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. เป็นต้นไป สโมสรฟุตบอลทหารบกจะเปลี่ยนชื่อเป็น" อาร์มี่ ยูไนเต็ด " หรือ " สุภาพบุรุษวงจักร " และอาจจะมีชื่อของสปอนเซอร์รายใหม่เข้ามาพ่วงด้วย ส่วนในเรื่องอื่นๆก็จะมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานของเอเอฟซี ทั้งห้องสื่อมวลชน ไฟสนาม ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น