วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สโมสรฟุตบอลจังหวัดพิษณุโลก

ประวัติสโมสรฟุตบอลจังหวัดพิษณุโลก

พ.ศ. 2547-48
         สโมสรฟุตบอลจังหวัดพิษณุโลก ในอดีตที่ผ่านมามีหลายรุ่นมากมายที่พลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าร่วมการแข่งขันในนามตัวแทนจังหวัดพิษณุโลกทั้งยามาฮ่าไทยแลนด์คัพการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เป็นต้น จนกระทั่งในปี 2547-2548 ทีมพิษณุโลกได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโปรวิลเชี่ยลลีก ดิวิชั่น2 โดยมี พล.ท.พิพัฒน์ เด็ดแก้ว เป็นผู้ก่อตั้งและควบคุมทีมในขณะนั้น โดยในครั้งนี้ ทีมจังหวัดพิษณุโลก สามารถทำผลงานอยู่ที่อันดับรองชนะเลิศ การแข่งขันฟุตบอลโปรวิลเชี่ยลลีก ดิวิชั่น2 รอบคัดเลือกโซนภาคเหนือ มาได้หลังจากที่ในนัดชิงชนะเลิศต้องพ่ายให้กับ ทีมจังหวัดเชียงใหม่ ไป 0-1 ที่จังหวัดพิจิตรเป็นเจ้าภาพ แต่ยังได้สิทธิเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายการแข่งขันฟุตบอลโปรวิลเชี่ยลลีก ดิวิชั่น2 ระดับประเทศ ที่จังหวัดสกลนคร และสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศมาครองได้ โดยการเบียดชนะเจ้าภาพอย่างทีมจังหวัดสกลนคร มาได้ 1-0 ซึ่งส่งผลให้ทีมจังหวัดพิษณุโลก ได้โควต้าขึ้นมาเล่น ฟุตบอลโปรวิลเชี่ยลลีก ดิวิชั่น 1 ในปีถัดมา


พ.ศ. 2549

ปี 2549 ทีมฟุตบอลจังหวัดพิษณุโลกได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอล ไทยแลนด์โปรวิลเชี่ยลลีก ดิวิชั่น1 ซึ่งถือว่าเป็นลีกสูงสุดที่มีการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการแข่งขัน โดยในปีนี้เองดูเหมือนจะเป็นการชิมลางการ รวมลีกการแข่งขันของ 2 ลีกที่มาจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย กับ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งการแข่งขันฟุตบอล ไทยแลนด์โปรวินเชี่ยลลีก ดิวิชั่น1 ประจำปี 2549 ได้ดึงแชมป์และรองแชมป์ของปีก่อนหน้านี้ อย่างทีมจังหวัดชลบุรี กับ ทีมจังหวัดสุพรรณบุรีขึ้นไปเล่นในระดับ ไทยแลนด์ลีกสูงสุด และส่งทีมอย่าง ทีโอที กับ การท่าเรือฯ ในชุดที่ถือว่าเป็นชุด บี เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอล ไทยแลนด์โปรวินเชี่ยลลีก ดิวิชั่น1 อีกด้วย แล้วในปีนี้ได้มีกฏให้ทุกทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องมี ตราสัญลักษณ์ประจำสโมสร แล้วทีมจังหวัดพิษณุโลก จึงได้มี ตราสัญลักษณ์ประจำสโมสรเป็นครั้งแรก และใช้สนามกีฬากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นสนามเหย้า ซึ่งทีมจังหวัดพิษณุโลก ทำผลงานจบลงด้วยอันดับที่ 6

พ.ศ. 2550

ปี 2550 ทีมจังหวัดพิษณุโลก ได้จดทะเบียนในนาม บริษัทนิติบุคคล เป็น สโมสรฟุตบอลพิษณุโลก หรือ PHITSANULOK FOOTBALL CLUB โดยมี พล.ท.พิพัฒน์ เด็ดแก้ว เป็นประธานสโมสร ซึ่งในปีนี้ได้มีการรวมลีกการแข่งขันอย่างเป็นทางการของ การกีฬาแห่งประเทศไทยกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดย สโมสรฟุตบอลพิษณุโลก ได้เข้าร่วมในการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์ดิวิชั่น 1 ประจำปี 2550 สาย บี โดยมี ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก เป็นลีกสูงสุด แต่ก่อนจะเปิดฤดูกาล สโมสรฟุตบอลพิษณุโลก เกือบได้รับโอกาสเข้าไปเพลย์ออฟ เพื่อหาอีก 1 ทีม เพื่อขึ้นไปเล่นไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก แต่ได้ข้อสรุปให้เป็น ทีมจังหวัดนครปฐม (นครปฐม ฮันเตอร์ เอฟซี) ทีมอันดับ 3 จากปีก่อน ขึ้นไปเล่นในท้ายที่สุด ในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก สโมสรฟุตบอลพิษณุโลก ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยมีโอกาสที่จะเบียดแย่งตำแหน่งแชมป์กลุ่มกับทีมฟุตบอลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ต้องไปพ่ายที่บ้านของจุฬาลงกรณ์ 3-0 จึงมีโอกาสเพียงแค่ทำอันดับสูงสุดเป็นสถิติอยู่ที่ อันดับ 2 ของการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์ดิวิชั่น 1 ประจำปี 2550 สาย บี และในเลกที่ 2 นี่เอง สโมสรฟุตบอลพิษณุโลก ประสบปัญหาเรื่องการเงิน ทำให้ผลงานของทีมเริ่มตกลงมา จนต้องหนีการตกชั้นเพราะในปีนี้จะมีทีมที่ต้องตกชั้นถึงสายละ 5 ทีม แต่สุดท้ายด้วยการบริหารของ พล.ท.พิพัฒน์ เด็ดแก้ว ที่พยายามประคองทีมให้อยู่รอด จนคว้าอันดับที่ 5 ของสายบี รอดพ้นการตกชั้นที่ต้องลุ้นกันจนถึงนัดสุดท้ายโดยการชนะทีมอย่าง ฉะเชิงเทรา เอฟซี ไป 7-0 โดยใช้สนามกีฬาพระองค์ดำ ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ส่วนทะเลแก้ว เป็นสนามเหย้า


พ.ศ. 2551

ปี 2551 ทีมสโมสรฟุตบอลพิษณุโลก ยังได้สิทธิ์ในการ เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์ดิวิชั่น 1 ประจำปี 2551 อีกครั้ง ซึ่งยังได้มีการเปลี่ยน ตราสัญลักษณ์ประจำสโมสร แต่ยังมีปัญหาทางการเงินติดตามมาจากปีก่อน จึงทำให้ต้องเสียผู้เล่นหลายคนออกจากทีมไป ส่งผลให้ทำผลงานได้อย่างตกต่ำอยู่ที่อันดับที่ 16 จากทั้งหมด 16 ทีม ต้องตกชั้นไปเล่นใน ดิวิชั่น 2 ในปีถัดไป ส่วนสนามที่ใช่แข่งขันนั้นยังเป็น สนามกีฬาพระองค์ดำ ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ส่วนทะเลแก้ว เป็นสนามเหย้า ในเลกแรก แล้วในเลกที่ 2จึงได้ย้ายกลับมาใช้ สนามกีฬา อบจ.พิษณุโลก (สนามกีฬากลางเดิม) เป็นสนามเหย้า


พ.ศ. 2552

ปี 2552 สโมสรฟุตบอลพิษณุโลก ยังมีโอกาสที่จะหนีรอดการตกชั้นเพื่อที่จะหาทีมไปเล่นแทนสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ ที่ต้องยุบตัวลงไป ด้วยการต้องไปเพลย์ออฟ กับอีก 3 ทีม คือ สโมสรฟุตบอลราชวิถี สโมสรฟุตบอลฮอนด้า และ สมาคมกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ แต่สุดท้ายต้องพ่ายให้กับ ทีมสมาคมกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ไป 1-2 ที่สนามกีฬากลางจังหวัดพิจิตร ทำให้ต้องมาเล่นใน ดิวิชั่น 2 ลีกภูมิภาค โซนภาคเหนือ อย่างแน่นอนแล้ว โดยผลงานในปีนี้ สโมสรฟุตบอลพิษณุโลก ทำผลงานได้ไม่ดีนักจนทำให้ พล.ท.พิพัฒน์ เด็ดแก้ว ต้องวางมือให้กลุ่มผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาทำทีมแทน แต่สุดท้ายจบที่อันดับ 6 ของตารางลีกภูมิภาค โซนภาคเหนือ


สนามเหย้า

สโมสรฟุตบอลจังหวัดพิษณุโลก ใช้สนามกีฬากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นรังเหย้า ตั้งอยู่บนถนน พิษณุโลก-วัดโบสถ์ (ถนนเอกาทศรถ) ใกล้กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ คุณภาพของที่นั่งอัฒจันทร์ ซึ่งมีถึง 3 ฝั่ง มีการต่อเติมเพื่อรองรับแฟนบอลได้สูงถึง 5,200 คน แยกออกเป็นฝั่งมีหลังคา ซึ่งจะมีเก้าอี้จุแฟนบอลได้ 1,200 คน ฝั่งตรงข้ามกระถางคบเพลิงไม่มีหลังคาจุแฟนบอล 2,500 คน และฝั่งแปรอักษร หลังประตูทิศเหนือจุแฟนบอล 1,500 คน โดยปัจจุบันได้ปรับปรุงโดยทาสีใหม่เพื่อความสวยงาม นอกจากนี้ในอนาคตสนามกีฬากลางจังหวัดพิษณุโลก รังเหย้าของทีม "ขุนพลนเรศวร" ยังมีโครงการที่จะปรับสร้างอัฒจันทร์เพิ่มเติมให้รอบสนามอีกด้วย เพื่อรองรับแฟนบอลของทีมในอนาคต ซึ่งเป็นโครงการระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
ด้านสนามพื้นสนามหญ้า หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของคุณภาพถือว่าอยู่ขั้นที่น่าพอใจ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีการดูแลอย่างดี เป็นสนามปิดไม่ค่อยจะได้ใช้งานหนักมากนัก ส่วนห้องต่างๆ สำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ถือว่ามีความพร้อม เช่น ห้องพักนักกีฬา มีห้องอาบน้ำและห้องน้ำในตัวทั้งสองฝั่ง ห้องรับรองห้องประชุมต่างๆ ก็มีพร้อม เพราะมีการดัดแปลงเป็นสำนักงาน และออฟฟิศขนาดย่อม โดยก่อนหน้านี้ สนามกีฬากลางจังหวัดพิษณุโลกเคยใช้เป็นสนามหลักในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 37 (พิษณุโลกเกมส์) เมื่อปี พ.ศ. 2552 อีกด้วย


ผลงาน

  • 2548 - โปรลีก 2 - ชนะเลิศ
  • 2549 - โปรลีก - อันดับ 6
  • 2550 - ไทยลีก ดิวิชัน 1 - สาย B อันดับ 5
  • 2551 - ไทยลีก ดิวิชัน 1 - อันดับ 16 (ตกชั้นไปเล่น ไทยลีก ดิวิชัน 2)
  • 2552 - ไทยลีก ดิวิชัน 2 ลีกถูมิภาค โซนภาคเหนือ - อันดับ 6
  • 2553 - ไทยลีก ดิวิชั่น 2 ลีกภูมิภาค โซนภาคเหนือ - อันดับ 7




Present by Tony Report.
เว็บไซต์ของสโมสร http://www.phitsanulokfc.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น